เทศบาลเมืองเขลางค์นคร ฝากย้ำเตือนประชาชนในเขต เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า

นายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร เปิดเผยถึงภัยเงียบที่เกิดจากโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งทางเทศบาลเมืองเขลางค์นครได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนเฝ้าระวังซึ่งหากผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าในระยะแรกเริ่มอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เนื่องจากเป็นระยะการฟักตัวของเชื้อที่มักใช้เวลาตั้งแต่ 2-12 สัปดาห์ขึ้นไป หรือบางรายอาจใช้เวลาอย่างเร็วเพียงแค่ 4 วัน ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมาก เพราะหากเลยช่วงนี้ไปจนเข้าช่วงแสดงอาการแล้วมักไม่สามารถรักษาได้ นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
อาการเริ่มต้นของโรคพิษสุนัขบ้า
จะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยอาจมีไข้ เป็นเหน็บชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงความรู้สึกแสบร้อนที่แผล หลังจากนั้นอาการจะเริ่มพัฒนาไปสู่ระยะที่โรครุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้แล้ว โดยอาการจะแสดงใน 2 ลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละราย
กลุ่มอาการสมองอักเสบ พบได้ประมาณ 80% ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า โดยจะส่งผลให้มีอาการรุนแรงปรากฏในลักษณะต่อไปนี้
 กลัวน้ำ ไม่สามารถกลืนน้ำลายได้
 มีการเกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้าและลำคอ กล้ามเนื้อที่ใช้กลืน และกล้ามเนื้อหายใจ
 กลืนอาหารลำบาก
 พูดไม่ชัด
 สมองอักเสบ ทำให้เกิดประสาทหลอน มีอาการสับสน หวาดระแวง คุ้มคลั่ง กระสับกระส่าย และโคม่าได้
 มีการหลั่งน้ำลายและเหงื่อมากกว่าปกติ
กลุ่มอาการแบบอัมพาต พบในผู้ป่วยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เวลาแสดงอาการยาวนานกว่าชนิดสมองอักเสบ และจะส่งผลให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยค่อย ๆ อ่อนแรงลงและเป็นอัมพาต นำไปสู่อาการโคม่าและเสียชีวิตได้ในที่สุด
สาเหตุโรคพิษสุนัขบ้า
พิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่าเรบีส์ สัตว์ที่ติดเชื้อโรคนี้จะสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนหรือสัตว์อื่น ๆ ด้วยการกัด นอกจากนี้ แผลตามร่างกายหรือเยื่อบุตาและปากที่สัมผัสเข้ากับน้ำลายของสัตว์ติดเชื้อนั้น ๆ ก็มีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน แต่พบได้น้อย ไม่เพียงแต่สุนัขเท่านั้นที่สามารถแพร่กระจายเชื้อมาสู่คนได้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดก็ตามล้วนสามารถส่งผ่านเชื้อพิษสุนัขบ้ามาสู่คน ไม่ว่าจะเป็น วัว ม้า แมว แกะ สุนัข รวมถึงสัตว์ป่าทั้งหลาย
นอกจากนี้ ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่เดินทางไปแถบที่มีการแพร่ระบาดของโรค มีการสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่า ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่ต้องสัมผัสกับเชื้อไวรัสเรบีส์ รวมถึงบางอาชีพ เช่น บุรุษไปรษณีย์ สัตวแพทย์ และผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ ควรต้องระมัดระวังการติดเชื้อชนิดนี้เป็นพิเศษ
การรักษาโรคพิษสุนัขบ้า
– ทำความสะอาดแผล แพทย์จะล้างแผลเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาทีด้วยสบู่และน้ำเปล่า
– ฉีดวัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน หากในอดีตผู้ป่วยยังได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าไม่ครบ
– ในรายที่มีอาการบ่งบอกการติดเชื้อ แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะรักษาร่วมด้วย
– หลังจากนั้นจึงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตาม วัคซีนนี้แพทย์จะฉีดให้ในวันแรกที่ถูกกัดแล้วฉีดซ้ำในวันที่ 3 วันที่ 7 และวันที่ 14 รวมทั้งสิ้น 4 รอบ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกเจ็บ คัน หรือบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ ปวดท้อง และปวดตามกล้ามเนื้อตามมาได้
– กรณีที่โรคพิษสุนัขบ้าพัฒนาไปถึงระยะแสดงอาการ ซึ่งมักไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้วนั้น ไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่แพทย์จะพยายามใช้วิธีที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายและเจ็บปวดน้อยที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคพิษสุนัขบ้า
ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่มักเสียชีวิตลงภายใน 2 สัปดาห์หลังจากเกิดอาการโคม่า โดยสาเหตุมักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ได้แก่ การขาดอากาศหายใจหรือภาวะหยุดหายใจจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว อาการชักในผู้ป่วยกลุ่มสมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตในผู้ป่วยกลุ่มอาการแบบอัมพาต
นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของโรคที่อาจพบได้ เช่น ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
– ฉีดวัคซีนป้องกันเมื่อต้องเดินทางไปในที่ที่มีความเสี่ยง หรือต้องทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ รวมถึงการทำงานกับเชื้อไวรัสเรบีส์ ต้นเหตุโรคพิษสุนัขบ้าในห้องปฏิบัติการ
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เมื่อเดินทางไปในที่ที่มีการแพร่ระบาด สอนให้ลูกรู้ถึงอันตรายจากการสัมผัสหรือการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ และคอยระมัดระวังตนเอง
– เมื่อพบว่าลูกหลานเกิดแผลตามตัว ควรไต่ถามถึงที่มาว่าเกิดจากสัตว์หรือมีการสัมผัสกับน้ำลายสัตว์หรือไม่ เพื่อให้สามารถป้องกันได้อย่างทันท่วงที
– ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ตัวอื่นและแพร่มายังเจ้าของ
– คอยเฝ้าดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้คลาดสายตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเลี้ยงสัตว์เล็กอย่างกระต่าย หรือตระกูลหนูทั้งหลายที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้
– แจ้งเทศกิจเมื่อพบเจอสัตว์เร่ร่อน
– ป้องกันไม่ให้ค้างคาว พาหะหนึ่งของโรคพิษสุนัขบ้ามาอาศัยอยู่ตามบริเวณบ้าน

เทศบาลเมืองเขลางค์นครขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในเขตพื้นที่ช่วยกัน เฝ้าระวัง ดูแล สัตว์เลี้ยงโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เพื่อป้องกัน ควบคุม และเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าไม่ให้มีการแพร่ระบาด สร้างความเสียหายให้กับคนในครอบครัวและชุมชนต่อไป

*******************************************************

18486162_1318907541550136_5408211248376861574_n 18519947_1318907544883469_5522247654066586906_n

คุณภาพอากาศ PM2.5

Submission received, thank you!

Close Window

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า